PID รูปแบบขนาน (Parallel form) และรูปแบบมาตรฐาน (Standard form)

ในบทความฉบับนี้จะกล่าวถึงสมการทางคณิตศาสตร์และการประยุกต์ใช้งานของตัวควบคุม PID รูปแบบขนาน (Parallel form) และรูปแบบมาตรฐาน (Standard form)

บทความฉบับนี้เป็นบทความที่ต่อเนื่องมาจากบทความเรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับตัวควบคุม PID

บทนำ

หากท่านได้เคยศึกษาหรือได้ใช้งานตัวควบคุม PID มาบ้างแล้ว บางท่านจะสังเกตเห็นได้ว่า รูปแบบสมการของตัวควบคุม PID นั้นมีมากกว่า 1 สมการ

แต่รูปแบบตัวควบคุม PID ที่พบเจอได้บ่อยและนิยมใช้งานกันมากมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ

  • ตัวควบคุม PID รูปแบบขนาน (Parallel form PID Controller)
  • ตัวควบคุม PID รูปแบบมาตรฐาน (Standard form PID Controller)

ตัวควบคุม PID รูปแบบขนาน (Parallel form PID Controller)

จากบทความเรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับตัวควบคุม PID ได้แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดต่างๆ ของสมการตัวควบคุม PID

โดยมีสมการของตัวควบคุม PID คือ

    \[c(t)={K_pe(t)+K_i\int{e(t)d(t)}+K_d\frac{de(t)}{dt}}\]

ตัวควบคุม PID ที่ใช้สมการดังกล่าวจะถูกเรียกว่า “ตัวควบคุม PID รูปแบบขนาน”

โดยสมการของตัวควบคุม PID รูปแบบขนานนี้ในแต่ละพจน์ของ P, I และ D จะแยกออกจากกันเป็นอิสระ ไม่มีพารามิเตอร์ที่เกี่ยวพันธ์กัน ซึ่งการที่เป็นอิสระจากกัน จะทำให้ง่ายในการเขียนโปรแกรม ดังนั้นจึงนิยมนำสมการของตัวควบคุม PID รูปแบบขนานนี้มาใช้ในการเขียนโปรแกรมตัวควบคุม PID

เมื่อนำสมการของตัวควบคุม PID รูปแบบขนาน มาเขียนเป็นบล็อกไดอะแกรมควบคุม จะได้ดังรูปที่ 1

Parallel form PID Controller
รูปที่ 1

ตัวควบคุม PID รูปแบบมาตรฐาน (Standard form PID Controller)

รูปแบบตัวควบคุม PID อีกรูปแบบหนึ่งที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายและเป็นรูปแบบที่ถูกใช้ในการหาพารามิเตอร์ของตัวควบคุม PID ด้วยวิธีต่างๆอย่างมากมายนั้นคือ “ตัวควบคุม PID รูปแบบมาตรฐาน”

ซึ่งมีสมการดังนี้คือ

    \[c(t)={K_p\left(e(t)+\frac{1}{T_i}\int{e(t)d(t)}+T_d\frac{de(t)}{dt}}\right)\]

โดยที่

K_p คือ อัตราขยายสัดส่วน (Proportional gain)

T_i คือ เวลาปริพันธ์ (Integral time)

K_d คือ เวลาอนุพันธ์ (Derivative time)

สมการรูปแบบขนานนี้พจน์ในแต่ละพจน์ P, I และ D จะไม่แยกออกจากกันเป็นอิสระ แต่จะมีพารามิเตอร์ที่เกี่ยวพันธ์กับทุกพจน์คือ K_p

ตัวควบคุม PID รูปแบบมาตรฐานนี้จะเหมาะกับการจูนตัวควบคุม PID

เพราะจะมีบางครั้งที่ต้องเพิ่มหรือลดอัตราขยายของทั้ง 3 พจน์พร้อมๆ กัน ซึ่งสามารถทำได้โดยจูนค่า K_p เพียงแค่ค่าเดียว

ซึ่งจะต่างจากรูปแบบขนานซึ่งจะต้องจูนทั้ง 3 ค่าในเวลาเดียวกันซึ่งก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการจูนค่า และโดยส่วนใหญ่การหาพารามิเตอร์ของตัวควบคุม PID ไม่ว่าจะเป็นวิธีของ Ziegler-Nichols หรือวิธีของ Chien-Hrones-Reswick เป็นต้น ก็จะอยู่บนพื้นฐานตัวควบคุม PID รูปแบบมาตรฐาน

เมื่อนำสมการของตัวควบคุม PID รูปแบบมาตรฐาน มาเขียนเป็นบล็อกไดอะแกรมควบคุม จะได้ดังรูปที่ 2

Standard form PID Controller
รูปที่ 2

สัมพันธ์ระหว่างตัวควบคุม PID รูปแบบขนานกับตัวควบคุม PID รูปแบบมาตรฐาน

ในบางครั้งอาจมีความจำเป็นต้องมีการแปลงพารามิเตอร์ระหว่างตัวควบคุม PID รูปแบบขนานและตัวควบคุม PID รูปแบบมาตรฐานไปมาระหว่างกัน

เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวควบคุม PID รูปแบบขนานกับตัวควบคุม PID รูปแบบมาตรฐาน สามารถทำได้ดังนี้

นำ K_p ของรูปแบบมาตรฐานคูณกระจายเข้าไปในวงเล็บจะได้

    \[c(t)={K_pe(t)+\frac{K_p}{T_i}\int{e(t)d(t)}+K_pT_d\frac{de(t)}{dt}}\]

เทียบสัมประสิทธิ์สมการนี้กับสมการรูปแบบขนานจะได้

    \[K_p=K_p\]

    \[K_i=\frac{K_p}{T_i}\]

    \[K_d=K_pT_d\]

ซึ่งความสัมพันธ์นี้จะถูกใช้และมีประโยชน์มากในการหาอัตราขยายตัวควบคุม PID ซึ่งจะได้กล่าวในบทความถัดไป

ข้อมูลเพิ่มเติม


หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยประการใดสามารถสอบถามได้ที่

(เมื่อเข้า Wanno Acedemy ได้แล้ว กดส่งข้อความ เพื่อเริ่มพูดคุยกับผมได้เลยครับ)